การรับรองระบบงานด้านสินค้าเกษตรและอาหาร

สถานะของ APAC

APAC คือ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน เกิดจากการรวมองค์การด้านการรับรองระบบงานระดับภูมิภาค 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (The Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation: APLAC) และองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Pacific Accreditation Cooperation: PAC)

APAC คือ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน เกิดจากการรวมองค์การด้านการรับรองระบบงานระดับภูมิภาค 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (The Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation: APLAC) และองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Pacific Accreditation Cooperation: PAC)

บทบาทหน้าที่ของ APAC

- APAC มีหน้าที่ในการจัดการและขยายผลการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) กับหน่วยงานรับรองระบบงานของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง MRA นี้เป็นการอำนวยความสะดวกด้านการยอมรับผลการประเมินเพื่อการรับรอง (conformity assessment) ระหว่างกันในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

- เป้าหมายของ APAC MRA เพื่อให้ประเทศที่ทำข้อตกลงการยอมรับร่วมได้การยอมรับจากประเทศสมาชิกที่ได้ร่วมลงนามใน APAC MRA ซึ่งสามารถลดภาระในการตรวจสอบรับรองสินค้าซ้ำซ้อน ทำให้ประหยัดเวลาและงบประมาณ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ

- APAC ได้รับการยอมรับจากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation ; APEC) ให้เป็นหนึ่งในองค์การชำนาญพิเศษภายใต้กรอบเศรษฐกิจเอเปค (APEC Specialist Regional Bodies; SRBs) ที่สนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการทำให้ได้มาตรฐาน (Sub-Committee on Standards and Conformance)

การสมัครเป็นสมาชิกของ APAC

การสมัครเป็นสมาชิกของ APAC มี 2 รูปแบบ คือ

- การเป็นสมาชิกสมทบ (associate membership) หมายถึง หน่วยงานที่ทำการรับรองระบบงานให้แก่หน่วยตรวจสอบรับรอง ซึ่งหน่วยงานนี้ทำตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO/IEC 17011: 2017 และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่กำหนดโดย องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum: IAF) และ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation: ILAC) ทั้งนี้ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบต้องให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง

- การเป็นสมาชิกผู้มีอำนาจเต็ม (full membership) หมายถึง หน่วยรับรองระบบงานที่เคยเป็นสมาชิกสมทบมาก่อน และได้ผ่านการประเมินเพื่อการตกลงยอมรับร่วม (peer evaluation) ภายใต้ APAC MRA รวมถึงได้รับการยอมรับผลการประเมินจากสมาชิกผู้มีอำนาจเต็มอื่น ๆ

การเป็นสมาชิก APAC และการเข้าร่วมในกิจกรรมด้านการรับรองระบบงาน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศ ย่อมเป็นผลดีต่อระบบการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ พัฒนาการรับรองระบบงานการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยต่อไป